นอนทำไม?

Chokchai Phatharamalai
2 min readDec 6, 2021

--

Photo by Kate Stone Matheson on Unsplash

ทีมผมเค้าเล่นกันให้ผลัดกันมาแบ่งปันเรื่องใหม่ ๆ ที่เราได้เรียนรู้มากับเพื่อน ๆ ในทีม เพื่อเป็นแรงผลักดันให้เราไปขวนขวายเรียนรู้เรื่องใหม่ให้สมศักดิ์ศรีชาวออดส์ที่เชื่อในการพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ

สัปดาห์ที่แล้วเป็นตาที่ผมต้องไปแบ่งปัน พอดีช่วงนี้อ่านหนังสือ Why We Sleep ของ Matthew Walker อยู่ ก็เลยเอาเรื่องจากในหนังสือไปแบ่งปันกับทีม

สองสัปดาห์ก่อนหน้านี้ผมแบ่งปันเรื่องการนอนสองประเภทและนาฬิการ่างกายไปแล้ว ถ้าใครสนใจติดตามในบทความที่เกี่ยวข้องด้านล่างได้ครับ

สัปดาห์นี้จะมาสรุปสาเหตุการนอนที่ผมแบ่งปันกับทีมให้ฟัง แต่ก่อนจะเข้าเรื่องการนอน ขอปูพื้นเรื่องพัฒนาการของสมองนิดหน่อยก่อน

สมองเราไม่ได้สร้างจนเสร็จในท้องแม่

สิ่งคล้ายกันที่ผมได้เรียนรู้จากหนังสือ Mayo Clinic Guild to Healthy Pregnancy และ Strength Finder 2.0 คือตอนออกมาจากท้องแม่ สมองผมยังพัฒนาไม่เสร็จ ขนาดกระโหลกยังไม่ต่อเป็นชิ้นเดียวกันเลย เพื่อแม่เราคลอดผมออกมาได้ง่าย เพราะถ้ารอจนกระโหลกประกอบกันเสร็จ สมองพัฒนาสมบูรณ์แล้ว หัวผมจะโตจนแม่เบ่งผมออกมาไม่ได้

ทำให้ใยประสาทของมนุษย์นั้นมาถูกเชื่อมโยงต่อภายนอก ผลพลอยได้คือใยประสาทของมนุษย์เลยเป็นรุ่นที่เหมาะกับยุคสมัยเสมอ เพราะสิ่งเร้าที่กระตุ้นให้สมองพัฒนาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สิ่งนี้อธิบายว่าทำไมเด็กสมัยนี้ขวบนิด ๆ ก็รูดหน้าจอไอแพดเป็นแล้ว

แล้วถ้าถามว่าใยประสาทนี้มันสร้างตอนไหนหล่ะ คำตอบคือตอนนอนนี่แหละ

ตอนหลับลึก

หรือที่เรียกว่า NREM sleep เป็นตอนที่สมองได้พักผ่อนเต็มที่ ถ้าดูจากคลื่นไฟฟ้าสมองจะเห็นว่าเป็นคลื่นความถี่ต่ำ สมองทำงานช้า ๆ สมองในสภาวะนี้คล้ายกับตอนเรานั่งสมาธิ วิทยาศาสตร์เชื่อว่าจังหวะนี้สมองกำลังถ่ายโอนข้อมูลความทรงจำจากความทรงจำระยะสั้นไปเก็บในความทรงจำระยะยาว เพื่อเปิดพื้นที่ให้เราจำสิ่งใหม่ ๆ ในวันถัดไป

นอกจากนี้สมองยังทำการลบเส้นทางไปยังความทรงจำที่ไม่สำคัญ เช่นความทรงจำที่ทำให้เราเจ็บปวด หรือความทรงจำที่ไม่จำเป็นแล้ว เช่น สัปดาห์ที่แล้วเราจอดรถตรงไหนนะ เพื่อให้เราที่เราต้องนึกต้องจำมีน้อย เวลาจะนึกจะได้นึกออกได้เร็ว ๆ

ตอนฝัน

หรือที่ในหนังสือเรียกว่า REM sleep ถ้าดูจากคลื่นไฟฟ้าในสมอง สมองในเวลานี้ทำงานหนักหน่วงไม่ต่างกันกับตอนตื่นเลย เพราะสมองกำลัง replay สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างวัน

ถ้าเราเปิดหนังตาดูจะเห็นว่าลูกตาเราในเวลาหลับแบบนี้จะกรอกซ้ายขวาสลับไปมาตลอด เพราะสมองส่วนที่ส่งภาพต่าง ๆ ไปที่สมองนั้นอยู่หลังจอประสาทตาพอดี พอมันทำงานลูกตาเลยย้ายที่ตามไปด้วย

ถึงแม้ว่าดูที่สมองจะไม่เห็นความแตกต่างจากตอนตื่นเลย แต่ถ้าดูที่ร่างกาย จะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจน เพราะคนเราตอนหลับแบบนี้จะคอพับ น้ำลายไหล เรียกว่ากล้ามเนื้อทั้งตัวจะผ่อนคลายเต็มที่ (เป็นการพักผ่อนร่างกายไปในตัว) แต่กลไลจริง ๆ คือสมองจะทำให้ร่างกายเราเป็นอัมพาตโดยการบล็อกสัญญาณต่าง ๆ ที่จะส่งไปควบคุมร่างกาย เพราะถ้าสมองเรา replay ประสบการณ์ขณะที่ร่างกายไม่โดนบล็อก เราก็จะขยับร่างกายเอง หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกละเมอ

การทำแบบนี้เพื่อสร้างใยประสาทเพื่อพัฒนาทักษะ เป็นการสร้างเส้นทางไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและสมองเพื่อให้เราควบคุมร่างกายได้ดีขึ้น ทำให้นักกีฬา หรือนักดนตรีหลาย ๆ คนที่เคยฝึกซ้อมแล้วติดขัดที่บางจุด พอได้นอนตื่นนึงวันต่อมาก็ทำได้เองอย่างเป็นธรรมชาติ

ส่วนที่สมองโยงใยประสาทมีการย้ายที่ไปตามวัยของเรา ตอนเล็ก ๆ สมองจะเริ่มสร้างใยประสาทแถว ๆ ท้ายทอยก่อน แล้วค่อย ๆ เลื่อนมาด้านหน้าในวัยรุ่น บางครั้งเราจะได้ยินว่า การให้เด็ก ๆ ฝึกภาษาต่างประเทศตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะตอนเล็ก ๆ เราลิ้นอ่อน สามารถพูดได้เหมือนเจ้าของภาษานั้น จริง ๆ เพราะสมองส่วนกล้ามเนื้อมัดละเอียดอย่างลิ้นถูกโยงใยอย่างหนักในช่วง 3 ปีแรก

ขณะเดียวกัน สมองส่วนหน้าที่เป็นส่วนตัดสินใจ ก็เป็นส่วนที่ถูกพัฒนาทีหลังในช่วงวัยรุ่น นั่นคือเหตุผลที่เราจำกัดอายุของคนที่ทำใบขับขี่ได้ เพราะเรารอสมองส่วนตัดสินใจให้พัฒนาสมบูรณ์เต็มวัยก่อน ค่อยเปิดโอกาสให้วัยรุ่นได้รับผิดชอบพวงมาลัย

ถึงสมองจะมีช่วงที่เน้นพัฒนาแตกต่างกันตามวัย แต่ผมเชื่อว่าต่อให้เป็นผมตอนแก่ ๆ แบบนี้ ก็สมองส่วนหลังที่เลยช่วงที่ถูกเน้นพัฒนาตามธรรมชาติตอนวัยสามขวบก็ยังพัฒนาต่อได้ สิ่งนี้เรียกว่า neuro plasticity (ความยืดหยุ่นของสมอง)

สิ่งที่ทำให้ผมเชื่อแบบนี้มี 2 อย่าง คือ 1) ผมเห็นว่าคนที่สมองเสียหายจาก stroke หรือการกระแทก ก็จะพบว่าสมองส่วนที่เสียหายจะค่อย ๆ มี neuron path ใหม่ ๆ ขึ้นมาทุกครั้งหลังนอนตื่นนึง และ 2) ผมที่ได้ไปเรียนคอร์สพัฒนาอัจริยภาพให้ลูกชาย ผมเองก็แอบเอาแบบฝึกหัดของลูกมาทำด้วย และผมก็พบว่าผมก็มีพัฒนาการเหมือนกัน ผมเชื่อว่าเราสามารถกำหนดได้ว่าจะให้สมองสร้างเส้นเชื่อมโยงไปทางไหน จากการกระตุ้นความทรงจำหรือทักษะนั้นวันแล้ววันเล่า และสร้างอารมณ์ที่เข้มข้นที่อยากจะไปถึงเป้าหมาย เพราะอารมณ์เป็นสารสื่อประสาทที่ใช้สื่อสารกับสมองส่วนที่กำหนดพฤติกรรมโดยตรง

จริง ๆ ความเชื่อด้านบนของผมมีที่มา ไว้ผมค่อยมาแบ่งปันประสบการณ์ต่อในบทความหน้านะครับ สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ ขอบคุณที่สละเวลาอ่านฮะ ^/\^

บทความที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง

--

--