การนอน 2 ประเภท

Chokchai Phatharamalai
2 min readNov 29, 2021

--

Photo by Cris Saur on Unsplash

วันเกิดที่ผ่านมาน้องริน (น้องสาวคนเล็ก) ให้หนังสือ Why We Sleep ของ Matthew Walker เป็นของขวัญวันเกิด ผมได้ยินจากเพื่อนร่วมงานทีมสิงคโปร์แล้วว่านี่เป็นหนังสือที่เค้าแนะนำเป็นอันดับสองเลยว่าทุกคนควรอ่าน (อันดับหนึ่งชื่อ Breath ที่แปลว่าหายใจ :D)

ในหนังสือทำให้ผมรู้จักการนอน 2 ประเภท เรียกการนอนแบบ REM และ NREM

ช่วงฝัน

REM ย่อมาจาก Rapid Eye Movement แปลว่าการกลอกตาอย่างรวดเร็ว เค้าบอกว่าตอนนอนแบบนี้ ถ้าเปิดเปลือกตาเราดู จะเห็นลูกตากลอกซ้ายขวา ๆ สลับไปมาอย่างรวดเร็ว ถ้าใช้เครื่องดูการทำงานของสมอง จะเห็นว่าสมองทำงานหนักหน่วงมากไม่แตกต่างจากตอนเราตื่นเลย ด้วยวิทยาศาสตร์ปัจจุบันเชื่อว่า สมองกำลัง replay สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนกลางวันเพื่อเอาไปสร้าง neuron path ใหม่ ๆ หรือเส้นทางใหม่ ๆ สู่ส่วนต่าง ๆ ของสมองเพื่อเพิ่มพูนทักษะของเรา

การ replay สิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างวันในสมอง จะทำให้ร่างกายเราขยับไปมาเอง แต่เพราะเราหลับตาอยู่ ทำให้ REM sleep ค่อนข้างอันตราย ก้านสมองก็เลยทำหน้าที่ส่งสัญญาณเพื่อให้กล้ามเนื้อทั้งหมดหมดแรง (นั่นคือสาเหตุว่าทำไมตอนหลับเราถึงคอพับ) สภาพนี้เรียกว่า atonia เพื่อป้องกันร่างกายเราขยับ ถ้าส่วนนี้ทำงานผิดพลาด เราก็จะนอนละเมอ ซึ่งจังหวะที่ร่างกายเป็นอัมพาต ก็ทำให้กล้ามเนื้อต่าง ๆ ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ด้วย

เมื่อก่อนบรรพบุรุษของเรานอนบนต้นไม้เพื่อป้องกันการถูกล่าจากสัตว์อื่น ซึ่ง REM sleep นี่แหละคือสาเหตุหลักให้เราตกต้นไม้ตาย บรรพบุรุษที่อยู่รอดจนคิดค้นไฟได้ ทำให้เราสามารถย้ายลงมานอนในถ้ำได้ แล้วช่วงเวลา REM sleep ก็เพิ่มขึ้นแซงสัตว์อื่น ๆ ไปไกล เราได้ความฉลาดจากตรงนี้แหละ เพราะนอกจากพัฒนาทักษะใหม่ ๆ แล้ว ความสร้างสรรค์ก็เกิดตอนนี้ด้วย ทำให้เราชอบพูดกันตอนติดปัญหาที่คิดไม่ตกว่า ไปนอนตื่นนึงแล้วค่อยคิดใหม่อาจจะคิดออก

สรุปแล้วช่วงฝันเป็นช่วงแห่งการพัฒนาทักษะ เป็นช่วงแห่งวิวัฒนาการ เพราะสมองมนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างจนเสร็จตั้งแต่ในท้องแม่ เพราะถ้าเป็นแบบนั้น หัวเราจะใหญ่เกินกว่าแม่จะเบ่งออกมาได้ เราเลยออกมาใช้ชีวิตตั้งแต่ตอนสมองยังพัฒนาไม่เสร็จ แล้วค่อยมาทำต่อข้างนอก ซึ่งตอนฝันนี่แหละ เป็นตอนที่สมองค่อย ๆ สร้างตัวเองต่อให้เสร็จโดยอิงสิ่งที่สร้างจากข้อมูลที่ได้รับระหว่างวัน นั่นทำให้มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุด นั่นทำให้เด็กสมัยนี้ split หน้าจอบนไอแพดเพื่อแอบดู YouTube ตอนเรียนออนไลน์ได้แล้ว ขณะที่ผมตอนนี้จะ split หน้าจอทียังต้อง google อยู่เลย และตอนเท่าเด็กเล่นเป็นแต่ดีดลูกแก้ว

ช่วงหลับลึก

NREM ย่อมาจาก Non Rapid Eye Movement นั่นก็คือไม่มีการกลอกตา ถ้าส่องดูในสมองก็จะพบว่าไม่มีการทำงานมากนัก ถ้าดูคลื่นสมองจะเห็นคลื่นที่ความถี่ต่ำกว่า เหมือนสมองกำลังฮัมเพลงช้า ๆ เป็นช่วงเวลาที่สมองได้พักผ่อน ระดับความถี่แบบนี้เป็นแบบเดียวกันกับคนที่กำลังนั่งสมาธิ

ช่วงเวลาพักผ่อน จะมีสมองส่วนที่ชื่อ hippocampus (แปลว่าม้าน้ำ เพราะหน้าตาเหมือนม้าน้ำ) จะหยิบข้อมูลในความทรงจำระยะสั้นย้ายไปเก็บในระยะยาว เพื่อเคลียร์พื้นที่ให้เราจำของใหม่ ๆ ได้ในวันถัดไป

นอกจากนี้ ช่วงเวลานี้ยังเป็นช่วงเวลาที่สมองลบเส้นทางที่เข้าถึงความทรงจำที่ไม่เป็นประโยชน์กับเรา เช่น ความทรงจำแย่ ๆ หรือความทรงจำที่ไม่มีประโยชน์แล้ว เช่นสัปดาห์ที่แล้วเราจอดรถที่ไหน เพื่อให้ข้อมูลที่ยังจำได้มีน้อย ๆ เวลาเรานึกจะได้นึกออกเร็วขึ้น

เราชดเชยการนอนไม่ได้

ปรกติในคืนนึงที่เรานอน เราจะมีช่วงที่ฝัน แล้วก็จะค่อย ๆ หลับลึก เสร็จแล้วก็ค่อย ๆ หลับตื้นขึ้น ๆ จนกลับมาฝัน แล้ววนอย่างนี้เรื่อยไปทุก ๆ 90 นาที อย่างไรก็ดี ช่วงครึ่งแรกของการนอน เวลาส่วนใหญ่ใน block 90 นาทีจะอยู่กับการหลับลึก แต่ช่วงครึ่งหลังของการนอน เวลาส่วนใหญ่จะไปอยู่กับช่วงฝันแทน ฉะนั้นถ้าปรกติผมนอนสามทุ่มและตื่นตีห้า วันไหนที่ผมนอนดึกซักห้าทุ่ม ผมอาจจะไปตื่นเจ็ดโมงแทน แต่ผลที่ได้คือผมเสียช่วงหลับลึกไปเกือบครึ่ง และได้ช่วงฝันมาเกินแทน พอตื่นมาสมองก็ยังเหนื่อยเหมือนเดิม

การที่ผมต้องตื่นเช้ากว่าปรกติก็เช่นกัน นั่นคือผมเสียช่วงฝัน หรือเสียพัฒนาการของวันนั้น ๆ ไป ซึ่งสมองจะพยายามชดเชยในวันถัด ๆ มา แต่มันจะไม่มีทางกลับไปได้เท่าเดิม นั่นคือเหตุผลว่าทำไมหมอเด็กถึงย้ำนักย้ำหนาให้ลูกผมเข้านอนเร็ว ๆ เพราะพัฒนาการที่ขาดหายไป มันชดเชยกลับมาได้ไม่หมด นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เทรนเนอร์ออกกำลังกายย้ำเตือนให้เรานอนเยอะ ๆ เพราะการจะสร้างสายใยประสาทไปเชื่อมโยงกับมัดกล้ามเนื้อใหม่ ๆ ที่เราเพิ่งค้นพบและยังควบคุมมันไม่ได้วันนี้เป็นงานที่ถูกทำตอนฝันในคืนนี้ ตอนที่สมอง reply ภาพเรายกน้ำหนักแล้วสร้างใยประสาทไปยังกล้ามเนื้อต่าง ๆ ที่ต้องใช้ การตื่นเช้าเกินนาฬิการ่างกายทำให้เราเสียช่วงฝันไปและได้การหลับลึกเกินมาแทน

นอกจากเรื่องพัฒนาการ เพิ่มพูนทักษะ และความทรงจำแล้ว การนอนยังช่วยปรับสมดุลการใช้พลังงาน และกำจัดของเสียต่าง ๆ ในร่างกายด้วย แต่ผมยังอ่านไม่ถึง ไว้อ่านถึงจะมาเล่าให้ฟังเพิ่มนะครับ ขอบคุณที่สละเวลาอ่านครับ ^/\^

บทความที่เกี่ยวข้อง

--

--